วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ที่มาของราชาศัพท์ในภาษาไทย

ที่มาของราชาศัพท์ในภาษาไทย
          ราชาศัพท์ หมายถึง คำศัพท์ และสำนวนที่ใช้สำหรับพระราชาและพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งรวมทั้งคำที่คนอื่นใช้ในการพูดกับพระราชวงศ์ และในการพูดถึงพระราชวงศ์ด้วย ภาษาไทยมีการใช้ราชาศัพท์มาตั้งแต่สมัยใดไม่มีหลักฐานที่จะยืนยันได้แน่นอน แต่จากการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะภาษาและถ้อยคำในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยและในเอกสารอื่นได้พบว่า มีการเลือกใช้คำบางคำ เพื่อแสดงความเคารพนบนอบที่มีต่อพระภิกษุสงฆ์และชนชั้นผู้ปกครองประเทศประเทศเป็นพิเศษกว่าผู้อื่นอยู่บ้าง เช่น ใช้คำว่า นบ แทนคำว่า ไหว้ เมื่อใช้แก่ พระ พระพุทธรูป หรือ พระพุทธบาท เป็นต้น เช่น
         ๑๙      ท่านแต่งช้างเผือ
         ๒๐      อกกระพัดลยางเที้ยรย่อมทองงา (ซ้าย) ขวา ชื่อรูจาครี
         ๒๑      พ่อขุนรามคำแหง ขึ้นขี่ไปนบพระ...
                              (จารึกหลักที่ ๑ หน้า ๓ บรรทัด ๑๙-๒๑)
         ๓๘      ...พระยาศรีสุริ (ย) พงศ์ราม (มหา) ธรรมราชา
         ๓๙      ธิราช จึงจักยืนย่อมือนบพระพุทธ
         ๔๐      ทองนบทั้งพระปิฎกไตร...
         ๔๑      บไว้ที่นั้น นบทั้งมหาสามีสังฆราช
         ๔๒      จึงจักอธิษฐานว่าดังนี้ด้วย
                              
(จารึกหลักที่ ๕ หน้า ๓ บรรทัด ๓๘-๔๒)
         ๒๑      ...ผู้ใดได้ขึ้น
         ๒๒      นบรอยฝ่าตีนพระพุทธเจ้าเราเถิงเหนือ
         ๒๓      จอมเขาสุมนกูฏบรรพตนี้
                              
(จารึกหลักที่ ๘ ด้าน ๑ บรรทัด ๒๑-๒๓)
         ใช้คำว่า โอยทาน ในการทำบุญ เช่น
         ๒๘      พ่อขุนรามคำแหงกระทำ
         ๒๙      โอยทานแก่มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตร
                              
(จารึกหลักที่ ๑ ด้าน ๒ บรรทัด ๒๘-๒๙)
         ใช้คำว่า ทรงศีล แปลว่า ถือศีล ทั้งสำหรับพระราชาและคนทั่วไป เช่น
         ๘        คนในเมืองสุโขทัยนี้
         ๙        มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหง
         ๑๐      เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง...
         ๑๑      ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิง
         ๑๒      ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีล เมื่อพรร
         ๑๓      ษาทุกคน...
                              
(จารึกหลักที่ ๑ ด้าน ๒ บรรทัด ๘-๑๓)
         แต่ในจารึกต่าง ๆ ในสมัยสุโขทัย ชนชั้นผู้ปกครองคือ พระเจ้าแผ่นดินในสมัยนี้ยังไม่มีการใช้ราชาศัพท์ในลักษณะที่ใช้คำที่แตกต่างไป หรือมีการประกอบคำอย่างคำราชาศัพท์ในปัจจุบัน เช่น พ่อขุนรามคำแหง พูดถึงสมเด็จพระราชบิดาพระราชมารดาว่า "พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง"   ในชั้นนี้จึงอาจจะพอสันนิษฐานว่าในสมัยสุโขทัยมีการใช้คำบางคำกับบุคคลหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเคารพเลื่อมใสสูงสุด แต่ยังมิได้มีคำราชาศัพท์ที่จะใช้กับชนชั้นผู้ปกครองอย่างในปัจจุบัน มาจนถึงระยะหลังของสุโขทัย เมื่อชนชั้นปกครองมีอำนาจมากขึ้นเนื่องจากต้องปกครองพระราชอาณาเขตซึ่งขยายออกไปกว้างใหญ่ ความใกล้ชิดระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองแบบพ่อปกครองลูกในสมัยสุโขทัยตอนต้นจึงไม่อาจกระทำได้ และเกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นขึ้น แต่การยกชั้นปกครองนั้นน่าจะมิใช่แบบเทวราชาของเขมร หากเป็นธรรมราชาซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้นำทางศาสนาด้วย ถ้อยคำซึ่งใช้ในทางศาสนาจึงถูกนำมาใช้กับพระราชาด้วย คำที่ใช้กับชนชั้นปกครองกับคำที่ใช้กับบุคคลทางศาสนาส่วนหนึ่งจึงเหมือนกัน เช่น ใช้คำว่า เสด็จ ถวาย ทรงเป็นต้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้
         ในทางศาสนา มีตัวอย่าง เช่น
         ๑       แต่พระเสด็จเข้านิพพานได้ ๑๙๑๖ ปี
                              
(จารึกหลักที่ ๔๕ ด้าน ๑ บรรทัด ๑)
         ๔      เมื่อพระศรีสรรเพชญ์เสด็จมาเป็นพระพุทธ
                              
(จารึกหลักที่ ๔๑ บรรทัด ๔)
         ๖      ต่อแต่นี้นายหมื่น, ราชปลัด หรือขุนไถ่นาใส่ตั้งแต่
         ๗      เขาถึงโดนนี้แล ท่านถวายเป็นนาพระพุทธเจ้า
                              
(จารึกหลักที่ ๕๕ บรรทัด ๖-๗)
         ๘๕   เถรมีหมู่สงฆเถรอันทรงธุดงค์ศีลา พระมหาสามี...สี...ถัดฝูง
                              
(จารึกหลักที่ ๒ บรรทัด ๘๕)
         ในภาษาที่ใช้กับชนชั้นปกครอง มีตัวอย่าง เช่น
         ๑๘     บุญราศีทั้งมวลได้ถวายพระวรโอรสาธิราชธิราชเจ้าตนเป็นเจ้าแผ่นดินเมืองพิงเชียง
         ๑๙     ใหม่ อันเสด็จมาไหว้แก้วทั้งสามในวิหารเชียงมั่น
                              
(จารึกหลักที่ ๗๖ ด้าน ๑ บรรทัด ๑๘-๑๙)
         ๑๘      พระมาตุราชและพระมาตุจฉาเจ้า และท่านเสด็จขึ้นมาให้ทานช้างเผือกและราชรถแก่พระสงฆ์ทุกเมือง
                              
(จารึกหลักที่ ๔๙ บรรทัด ๑๘)
         ๑๓      เจ้าพันต่าง เมืองศรีมงคล เอาวัดปราสาทเมือ
         ๑๔      ถวายแก่สมเด็จบพิตรพระเป็นเจ้าทั้ง
         ๑๕      สองพระองค์
                              
(จารึกหลักที่ ๖๙ ด้าน ๑ บรรทัด ๑๓-๑๕)
         ในตอนปลายสมัยสุโขทัย มีการใช้คำที่ไพเราะและมีวิธีการที่สร้างสรรค์ภาษาใช้กับพระเจ้าแผ่นดินมากขึ้นทั้งคำเรียกขาน คำบรรยายกิริยาอาการและคำนามทั่วไป ซึ่งน่าจะจัดเป็นราชาศัพท์ได้  แบบอย่างการใช้ราชาศัพท์น่าจะรับมาจากเขมร แต่น่าจะต้องทำความเข้าใจว่าวิวัฒนาการการใช้ราชาศัพท์นั้น เกิดจากพัฒนาการของภาษาในสังคมไทยนั้นเอง กล่าวคือ คนไทยเป็นคนที่มีธรรมชาติอ่อนน้อมถ่อมตน ยกย่องผู้อื่นเป็นลักษณะนิสัยและวัฒนธรรมประจำชาติอยู่แล้ว การพูดจากับผู้ที่ควรเคารพ กับพ่อแม่ กับครูบาอาจารย์ กับพระ จะใช้คำสุภาพอ่อนน้อม ผิดกับถ้อยคำที่ใช้กับคนเท่า ๆ กัน กับผู้น้อยหรือกับผู้ที่ด้อยกว่าตน ลักษณะค่านิยมเช่นนี้เอง ย่อมส่งให้มีการยกย่องบุคคลใน ๒ สถาบัน คือ สถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันศาสนาด้วย การเคารพยกย่องสถาบันทั้งสองเป็นการยกย่องเคารพที่สูงยิ่งกว่าการให้ความเคารพพ่อแม่ ครูอาจารย์ เพราะเกี่ยวพันกับอำนาจที่อาจมีถึงชีวิต และเกี่ยวพันกับความเชื่อซึ่งมีผลทางจิตใจ การยกย่องและให้ความเคารพนั้นยิ่งจะต้องสูงกว่าปรกติเป็นธรรมดา วัฒนธรรมไทยจึงเป็นแรงผลักดันสำคัญแรงหนึ่งที่ทำให้เกิดการใช้คำราชาศัพท์
         หากสังเกตถ้อยคำจากศัพท์ที่ใช้เป็นคำราชาศัพท์จะทราบว่า คำเกือบทั้งหมดเป็นคำภาษาบาลีและสันสกฤต ซึ่งเป็นคำทางศาสนานั่นเอง เห็นได้ชัดว่า คำราชาศัพท์ของไทยผูกพันกับศาสนา และมีที่มาจากเหตุผลทางศาสนา แต่เนื่องจากไทยคุ้นเคยกับเขมร และเขมรมีการใช้ราชาศัพท์อยู่ด้วย ไทยจึงยืมวิธีการสร้างราชาศัพท์แบบเขมรมาใช้ ซึ่งนับเป็นความฉลาดอย่างยิ่งของบรรพบุรุษไทยที่สามารถนำสิ่งที่มีอยู่รอบตัวมาปรับเปลี่ยนใช้ให้เหมาะแก่ความต้องการของเราเอง.

ผู้เขียน :  ศ. ดร. กาญจนา  นาคสกุล ราชบัณฑิต ประเภทวรรณศิลป์ สาขาวิชาภาษาไทย สำนักศิลปกรรม